วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ทุกของชาวนาในบทกวี


 ทุกข์ของชาวนาในบทกวี  เป็นบทความพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ที่แสดงให้เห็นถึงการเอาพระทัยใส่ความเข้าพระทัยในปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนพระเมตตาของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนา  เนื่องด้วยชาวนาแต่ละท้องที่ล้วนมีสภาพชีวิตและความทุกข์ยากที่ไม่แตกต่างกันเลย  แม้ว่ากาลเวลาจะผันผ่านไปอย่างไรก็ตาม



การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว

การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว หมายถึง การอ่านถ้อยคำที่มีผู้เรียบเรียงหรือประพันธ์ไว้ โดยการเปล่งเสียง และวางจังหวะเสียงให้เป็นไปตามความนิยม และเหมาะสมกับเรื่องที่อ่าน เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ไปสู่ผู้ฟัง ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ร่วมคล้อยตามไปกับเรื่องราว หรือรสประพันธ์ที่อ่าน..อ่านเพิ่มเติม

วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2556

มงคลสูตรคำฉันท์

   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๖ แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปีที่ครองราชย์ (พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๔๖๘) ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นอเนกประการ ทรงพระปรีชาสามารถทั้งด้านการทหาร การปกครอง การต่างประเทศ และโดยเฉพาะด้านอักษรศาสตร์ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์งานประพันธ์หลายประเภท เช่น บทละคร บทความ สารคดี นิทาน นิยาย เรื่องสั้น และทรงใช้งานพระราชนิพนธ์เป็นสื่อแสดงแนวพระราชดำริในเรื่องต่างๆ บทพระราชนิพนธ์หลายเรื่องยังได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีหรือเป็นหนังสือที่แต่งดี อาทิ หัวใจนักรบ เป็นยอดของบทละครพูดร้อยแก้ว มัทนะพาธา เป็นยอดของบทละครพูดคำฉันท์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงรับการถวายพระราชสมัญญาว่า "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า" ซึ่งมีความหมายว่า นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ และใน พ.ศ. ๒๕๑๕ พระองค์ยังทรงได้รับการประกาศยกย่องจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ให้ทรงเป็น ๑ ใน ๕ นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของไทย 

ความเป็นมา
มงคลสูตรคำฉันท์ เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเนื้อหาว่าด้วยมงคล ๓๘ อันเป็นพระสูตรหนึ่งในพระไตรปฎก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย หมวดขุททกปาฐะ
คำว่า “มงคล” หมายถึง เหตุแห่งความเจริญก้าวหน้าหรือทางก้าวหน้า และ “สูตร” หมายถึง คำสอนในพระพุทธศาสนา มงคลสูตร จึงหมายความว่า พระธรรมหรือคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญก้าวหน้า
มงคลสูตร มีที่มาโดยปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎก ความว่า
ครั้งหนึ่งชาวชมพูทวีปได้มาประชุมและพูดคุยกันว่า “การเห็นเป็นมงคล การได้ยินได้ฟังเป็นมงคล หรือการสูดดมลิ้มเลียเป็นมงคล”
ครั้งนั้นมีชายคนหนึ่งนามว่า ทิฏฐิมังคลิกะ ถือว่า การเห็นเป็นมงคล และมีชายอีกคนหนึ่งนามว่า สุตมังคลิกะ ถือว่าการได้ฟังเป็นมงคล และยังมีชายอีกคนหนึ่งนามว่า มุตมังคลิกะ ถือว่าการสูดดมลิ้มเลียเป็นมงคล เมื่อชายทั้ง ๓ ถือมงคล ต่างกัน จึงกล่าวแก่งแย่งถกเถียงกันว่า อะไรคือมงคล
ฝ่ายคนที่ไม่เชื่อชายทั้งสามก็พากันคิดว่า อะไรจะเป็นมงคล ครั้งนั้นมนุษย์และเทพยดาทั้งหลายพากันคิดเรื่องมงคล เมื่อท้าวสุทธาวาสมหาพรหมรู้ว่า มนุษย์และเทพยดาพากันคิดเรื่องมงคล แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ จึงร้องประกาศว่า อีก ๑๒ ปีข้างหน้า พระพุทธเจ้าจะตรัสเทศนาเรื่องมงคล ให้คอยฟัง เมื่อร้องประกาศแล้วท้าวสุทธาวาสก็กลับไป
ครั้นล่วง ๑๒ ปีเทพยดาทั้งหลายก็พากันไปเฝ้าพระอินทร์ กราบทูลเรื่องมงคลที่มหาชนและเทพยดาถือกันต่างๆ พระอินทร์จึงมีเทวบัญชาให้เทพยดาองค์หนึ่งทูลถามข้อมงคลแด่พระพุทธเจ้า
ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในเมืองสาวัตถี เทพยดาจึงทูลอาราธนาขอให้พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาเรื่องมงคล
พระพุทธองค์จึงทรงเทศนาตรัสตอบปัญหาเรื่องมงคล ๓๘ ประการ เมื่อทรงเทศนาจบแล้วเหล่าเทวดาทั้งหลายก็ได้บรรลุธรรม ครั้นเมื่อราตรีนั้นผ่านพ้นไป พระพุทธองค์จึงได้ทรงเทศนาเรื่องมงคลนี้ประทานแก่พระอานนท์ซ้ำอีกคราวหนึ่ง แล้วทรงให้พระอานนท์นำไปเผยแผ่แก่ภิกษุทั้งหลาย
คำว่า “มงคล” ในทางพระพุทธศาสนา ได้แก่เหตุที่ทำให้ชีวิตเป็นสุขและมีความเจริญก้าวหน้า ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ใน “มงคลสูตร” เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้ยึดถือและปฏิบัติ มีทั้งสิ้น ๓๘ ประการ ได้แก่


มงคล ๓๘ ประการ


๑. ไม่คบคนพาล                                                                
๒. คบบัญฑิต                                                                        
๓. บูชาบุคคลที่ควรบูชา                                    
๔. อยู่ในถิ่นอันสมควร                                                      
๕. เคยทำบุญมาก่อน                                                        
๖. ตั้งตนไว้ชอบ                                                       
๗. ความเป็นพหูสูต                                                            
๘. รอบรู้ในศิลปะ                                            
๙. มีวินัยที่ดี                                                         
๑๐. กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต                                            
๑๑. บำรุงบิดามารดา                                                            
๑๒. สงเคราะห์บุตร                                                       
๑๓. สงเคราะห์ภรรยา                                                     
๑๔. ทำงานไม่ให้คั่งค้าง                                                  
๑๕. ให้ทาน                                                                     
๑๖. ประพฤติธรรม                                                                
๑๗. สงเคราะห์ญาติ                                                          
๑๘. ประกอบการงานที่ไม่มีโทษ 
๑๙. งดเว้นจากบาป   
๒๐. สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
๒๑. ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
๒๒. มีความเคารพ
๒๓. มีความถ่อมตน
๒๔. มีความสันโดษ
๒๕. มีความกตัญญู
๒๖. ฟังธรรมตามกาล
๒๗. มีความอดทน
๒๘. เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย
๒๙. เห็นสมณะ
๓๐. สนทนาธรรมตามกา
๓๑. บำเพ็ญตบะ
๓๒. ประพฤติพรหมจรรย์
๓๓. เห็นอริยสัจ
๓๔. ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
๓๕. จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
๓๖. มีจิตไม่เศร้าโศก
๓๗. มีจิตปราศจากกิเลส
๓๘. มีจิตเกษม                                                           
          
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำ “มงคลสูตร” มาทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทประพันธ์ร้อยกรองประเภทคำฉันท์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖

จุดมุ่งหมายในการแต่ง
             ในการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำหลักธรรมที่เป็นคาถาภาษาบาลีจากพระไตรปิฎกมาแปลและเรียบเรียงแต่งเป็นคำประพันธ์ที่มีความไพเราะ ทั้งนี้เพื่อจะได้มีการจำได้ง่ายโดยมีเนื้อหาที่แสดงให้เห็นว่า สิริมงคลจะเกิดแก่ตัวเราได้ก็ด้วยเป็นผลมาจากการประพฤติปฏิบัติดี และยังสามารถนำไปใช้เพื่อให้เกิดความเจริญและเพื่อความเป็นสิริมงคลของตัวเราเองอีกด้วย

ลักษณะคำประพันธ์
              มงคลสูตรคำฉันท์ เป็นวรรณคดีที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นโดยทรงนำคาถาภาษาบาลีที่เป็น "มงคลสูตร" ซึ่งมีอยู่ในพระไตรปิฎกแปล แล้วทรงเรียบเรียงแต่งเป็นบทประพันธ์ร้อยกรองที่มีสัมผัสคล้องจอง ท่องจำง่าย และสามารถพรรณนาความได้อย่างไพเราะจับใจ โดยทรงใช้คำประพันธ์2ประเภท คือกาพย์ฉบัง16และ อินทรวิเชียรฉันท์11 โดยทรงลงท้ายคำประพันธ์ทุกบทด้วยข้อความเดียวกันว่า"ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี"

เนื้อเรื่องย่อ
เริ่มต้นกล่าวถึงมนุษย์และเทวดาได้พยายามต้นหาคำตอบว่า อะไรคือมงคล เป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี พระอานนท์ได้เล่าให้ฟังว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับ ณ เชตวันมหาวิหารซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้สร้างถวายไว้ ณ เมืองสาวัตถี มีเทวดาองค์หนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในเวลาปฐมยามและได้ทูลถามเรื่องมงคล พระพุทธองค์จึงตรัสตอบถึงสิ่งที่เป็นมคล ๓๘ ประการ หลังจากรับฟังเทศนาจบ เหล่าเทวดาก็บรรลุธรรม

มงคลทั้ง ๓๘ ประการ พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นคาถาภาษาบาลีเพียง ๑๐ คาถา แต่ละคาถาประกอบด้วยมงคล ๓ -๕ ข้อ และมีคาถาสรุปตอนท้าย ๑ บท ชี้ให้เห็นว่าเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าปฏิบัติตามมงคลอันสูงสุด ๓๘ ประการนี้ได้ จะไม่พ่ายแพ้แก่ข้าศึกศัตรูและจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรื่องสืบไป



ข้อคิดที่ได้รับ

๑.ได้รู้ถึงวิธีการปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตด้านต่างๆ เช่น
-การเลือกคบมิตรที่ดี
-การทำดีและสะสมความดีต่างๆ
-การหลุดพ้นจากความทุกข์  เป็นต้น
๒.ได้ศึกษาภาษากวีนิพนธ์ที่สละสลวย ไพเราะทั้งถ้อยคำและเนื้อความ
๓. ทำให้เราได้เข้าถึงพระพุทธศาสนาได้มากขึ้น